เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน

เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน

สรุปประเด็น 
ทำอย่างไรจึงจะใช้เงินที่เรามีอยู่ไม่มากนัก ให้มีคุณค่า ประหยัดเงินตรา และเป็นประโยชน์มากที่สุด ในยุคเศรษฐกิจวิกฤตที่ควรจะเรียกว่ายุคเศรษฐกิจพอเพียง 
บทความนี้ได้แนวมาจาก เครือวัลย์ อัยลา เรื่อง “อยู่อย่างไรให้พอดี ในยุคเศรษฐกิจพอเพียง” สำนักพิมพ์ ไพลินสีน้ำเงิน จำกัด เห็นว่าดี จึงนำมาสรุปย่อให้ผู้อ่านได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป หากท่านสนใจรายละเอียดเต็มเนื้อหา ก็ไปซื้อหาอ่านเองได้ครับ 
บทคัดย่อ 
ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ จำเป็นต้องมีมาตรการ เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ตัดการจ่ายที่ไม่จำเป็น และขจัดความสูญเปล่า 
เริ่มจากการวางแผนการควบคุมค่าใช้จ่าย หาวิธีประหยัด ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ใช้สมุนไพรรักษาโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รู้จักการประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้า สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ท่านลองไปคิดดู เช่น การเดินทาง ด้านยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายสังคม เป็นต้น 

1. บทนำ 
ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ในชีวิตของชาวบ้านที่แท้จริง ยังอยู่ในภาวะบอบช้ำอยู่ บางคนถูกไล่ออกจากงาน บางคนถูกบีบบังคับให้ออก บางคนเคยเป็นคนรวย แต่ทรัพย์สินถูกยึด ที่เห็นอยู่เงินไม่พอใช้ มองไม่เห็นอนาคตว่าอีกกี่ปี เศรษฐกิจจะฟื้นแล้วกลับมากสุขสบายอีกครั้งหนึ่ง 
การช่วยเหลือตัวเองเฉพาะหน้า ให้ได้มาซึ่งเงิน เช่น ขายของ ขายอาหาร ปลูกผักทำกำไร รับจ้าง ขับแท็กซี่ ทำขนม ก็ได้เงินมาเพียงเพื่อยังชีพ บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ ลูกเมียต้องกิน ต้องใช้ ต้องเรียนหนังสือ ทำอย่างไรจึงจะใช้เงินที่มีอยู่น้อยนิดให้ทั่วถึง เลี้ยงชีพต่อไปได้ จนกว่าจะผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจ 

2. การวางแผนควบคุมค่าใช้จ่าย 
การประหยัดค่าใช้จ่ายนั้น ควรมีการวางแผนการประหยัดด้วย ต้องไม่ประมาทใช้เงินจนเพลิดเพลิน วันใดต้องออกจากงาน จะได้ตั้งหลักได้ทัน 
การทำบัญชีรับจ่ายของครอบครัว แบบบัญชีในบริษัท ด้านซ้ายเป็นรายได้ ด้านขวาเป็นรายจ่าย (รับซ้ายจ่ายขวา) รายได้มาจากไหนบ้างเดือนนี้ มีเงินเดือนพ่อ เงินเดือนแม่ รายได้พิเศษ รายจ่ายก็มี รายจ่ายประจำวัน เช่น ค่ากับข้าว ค่าน้ำมันรถ ค่าเสื้อผ้า รายจ่ายประจำเดือน มี ค่าผ่อน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายจ่ายฉุกเฉิน มีค่ารักษาพยาบาล ค่าแก๊ส ค่าซ่อมรถ รายจ่ายประจำภาค เช่น ค่าเทอมลูก ค่าประกันรถ ค่าต่อทะเบียน ค่าประกันภัย 


การทำบัญชีรายได้ – รายจ่าย จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เงินรายได้มาจากไหนบ้าง ต้องหามาเพิ่มอีกหรือไม่ เมื่อมองด้านรายจ่าย ก็ให้แจกแจงรายละเอียดให้มากที่สุด เช่น ค่ากับข้าว ค่าน้ำมันรถ ค่าแท็กซี่ ค่ารถเมล์ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหารนอกบ้าน ค่าของขวัญ ค่าทำบุญงานศพ เป็นต้น แล้วพิจารณาว่ารายจ่ายใดควรลดลงได้หรือไม่ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ บางรายการตัดยกเลิกไปเลยได้หรือไม่ เช่น ค่าเหล้า ค่าเสื้อผ้า ค่าหวยเบอร์ 
มีเงินเหลือแต่ละเดือนเท่าไร การประหยัดต้องเป็นประชามติของทุกคนในครอบครัว การจะซื้อของเข้าบ้านแต่ละชิ้น ต้องประเมินกำลังรายได้ให้ดี หากไม่จำเป็นให้ละเสีย ให้ระวังการใช้เงินในระบบเงินผ่อน ตลอดจนบัตรเครดิตต้องระวังให้ดี มีหลายคนเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้น เพราะเพลิดเพลินกับการจ่ายด้วยบัตรเครดิต เนื่องจากค่าบำรุงบัตรแต่ละปี และค่าดอกเบี้ยสูงมาก ทางที่ดียกเลิกบัตรเครดิตซะ 
การกู้เงินนอกระบบ การกู้เงินแทนพี่น้องหรือเพื่อน การค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่น เคยเห็นมากมายที่พี่น้องหรือเพื่อนหายไป ปล่อยให้เราชดใช้เงินแทน การกู้เงินนอกระบบเขาคิดดอกร้อยละ 5 ต่อเดือน กู้เงินเพียง 20,000 บาท เผลอไป 2 ปี เป็นหนี้ถึง 44,000 บาท 

3. วิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายครัวเรือน 
วิธีการต่างๆ ในนี้ ได้แนวมาจากหนังสือของ เครือวัลย์ อัยลา “อยู่อย่างไรให้พอดี ในยุคเศรษฐกิจพอเพียง) 
3.1 เก็บน้ำชาเหลือใช้ 
น้ำชาที่ชงไว้เหลือมากๆ ให้นำไปแช่เป็นก้อนน้ำแข็งในตู้เย็น แข็งตัวแล้วเอามาเก็บในถุงพลาสติก แล้วแช่แข็งอีก จากนั้นก็นำมาใช้กินต่อไป 
3.2 เศษผ้าถัก 
เก็บเศษผ้าถัก อย่านำไปทิ้ง ให้เอามาชุบกับน้ำสบู่ เป็นผ้าล้างชาม 
3.3 เก็บไข่ไว้กินนานๆ 
ซื้อไข่มาคราวละมากๆ จะถูก จากนั้นใส่ลังไข่ก่อน แล้วนำไปแช่ตู้เย็น จะเสียยากกว่าใส่ในช่องไข่ในตู้เย็น 

3.4 ผ้ากันเปื้อนเลี้ยงเด็ก 
หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษ เวลาเลี้ยงเด็ก ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า เปื้อนแล้วเอาไปซัก จะประหยัดกว่าซื้อกระดาษ 
3.5 เก็บนมกล่องไว้กินได้นาน 
นมกล่อง นมกระป๋อง เปิดกินแล้วไม่หมด ต้องเก็บไว้ใกล้ชั้นที่ใกล้กับชั้นน้ำแข็ง จะเก็บได้นาน 
3.6 ใช้แก๊สหุงต้ม 
อย่าใช้เปลวไฟสูงเกินกว่าก้นหม้อ จะทำให้หม้อไม่ร้อน อาหารสุกช้า ต้องปรับเปลวไฟให้ปะทะก้นหม้อ หรือสูงจากก้นหม้อสักครึ่งนิ้วก็พอ 
3.7 เศษสบู่เหลือใช้ 
เศษสบู่ก้อนเหลือใช้อย่าทิ้ง เอามาแช่น้ำ เขย่าจนสบู่ละลาย ใส่ขวด วางไว้หน้าอ่างล้างมือ ทำเป็นสบู่ล้างมือ 
3.8 ทำกาแฟกินเอง 
เอาเมล็ดกาแฟดิบจากต้น มาตากให้แห้ง แล้วนำมาคั่ว ปล่อยให้เย็น แล้วเก็บในขวดสุญญากาศ กาแฟเม็ดคั่วเก็บได้นานกว่ากาแฟสด กาแฟบดแล้วเก็บไว้ในขวดสุญญากาศ ระวัง กาแฟคั่วเวลาใกล้จะใช้ให้บดร้อนเก็บไว้ในกระป๋องจะบวม เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะระเหยออกมาจากเมล็ดกาแฟที่ร้อน (หากต้องการประหยัดจริง ก็ให้เลิกกินกาแฟไปเลย) 
3.9 ใช้โทรศัพท์ทางไกล 
ค่าโทรศัพท์ทางไกลจะขึ้นอยู่กับระยะทางผู้รับสายกับผู้โทรไป และระยะเวลาที่พูด วิธีประหยัดค่าโทรศัพท์ที่ดี คือ ก่อนพูดให้จดข้อความเรื่องที่จะพูดย่อๆ จะได้ไม่เสียเวลานึก บางครั้งโทรจากเบอร์บ้านเข้าหามือถือจะถูกกว่า ถ้ามือถือจดทะเบียนในเขตเดียวกันกับเบอร์บ้าน ทางที่ดีไม่จำเป็นก็ไม่ต้องโทร แล้วอย่าคุยเพ้อเจ้อไร้สาระ
3.10 เก็บปลาให้สดได้นาน 
นำปลาใส่ถุงพลาสติก เติมน้ำเต็มถุง ปิดปากถุงให้สนิท นำไปแช่ในช่องแช่แข็ง เวลาจะใช้ก็ทำให้น้ำแข็งละลาย 
3.11 ทำกระถางต้นไม้จากยางรถยนต์เก่า 
นำเอายางนอกรถยนต์เก่ามาทำเก้าอี้นั่ง ทำชิงช้าแกว่งกับต้นไม้ ทำกระถางปลูกต้นไม้ พืชสวนครัวกินได้ ประหยัดเงิน ทำรองเท้ายางรถยนต์ 
3.12 ถุงพลาสติกใช้แล้วเอามาใช้อีก 
ถุงพลาสติกที่ได้มาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่ได้ใส่สารเคมียาฆ่าแมลง เอามาล้างตากให้แห้ง แล้วนำมาเก็บเอาไว้ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใส่เศษอาหาร บางคนเอามาดึงเป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆ ทำไหมขัดฟันก็ได้ 
3.13 เสื้อผ้าใช้แล้วอย่าทิ้ง 
เสื้อผ้าใช้แล้ว หากบริจาคให้คนยากจนก็จะได้บุญกุศลมาก บางคนก็เอาไปขายเป็นสินค้าเก่า หรือตัดเป็นผ้าเช็ดมือ ผ้าถูพื้น ผ้าล้างจาน ก็จะประหยัดได้มาก 
3.14 ไปรษณียบัตรจากบัตรอวยพร 
บัตรอวยพร การ์ดแต่งงาน การ์ดเชิญงานต่างๆ ส.ค.ส.แผ่พับตัดเอาแต่รูปภาพ แปะบนกระดาษไปรษณียบัตร ส่งคำอวยพรไปให้คนที่รู้จักเคารพนับถือได้ 
3.15 ขนมปังป่นที่เหลือทาน 
ขนมปังที่ทานไม่หมดอย่าทิ้ง เก็บสะสมไว้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น พอได้มากพอก็เอามาตากแดด แล้วเครื่องปั่นให้สะอาด เก็บไว้ชุบกุ้ง ไก่ หมู เนื้อทอด รับประทานอร่อยดี 
3.16 ถุงมือขวาขาด แต่ถุงมือซ้ายยังดีอยู่ 
ใส่ถุงมือทำงานจนถุงมือขวาขาด ถุงมือซ้ายยังดีอยู่ ให้กลับในออกนอก แล้วเอามาใส่ในมือขวา ประหยัดเงิน รอจนกว่ามีเงินแล้วค่อยซื้อใหม่ 
3.17 ทาห้องสีขาวช่วยประหยัดไฟฟ้า 
ห้องน้ำ ห้องเล็กๆ มืดทึบ ไม่มีหน้าต่าง ให้ทาสีขาวที่ผนังและเพดาน แล้วใช้หลอดไฟ 100 วัตต์ จะมองเห็นภายในห้องได้ชัดเจน ไม่เปลืองไฟฟ้า เมื่อเลิกใช้งานกรุณาปิดไฟด้วย 
3.18 ป้ายชื่อ – สกุล ใช้ได้ทั้งตระกูล 
ป้ายชื่อเด็กนักเรียนที่เป็นป้ายพลาสติก หากมีลูกต้องเรียนหนังสือไล่ๆ กัน ควรพิมพ์เฉพาะนามสกุล ส่วนชื่อให้เขียนด้วยหมึก เมื่อคนพี่เลิกใช้ คนน้องก็เอามาลบชื่อแล้วเขียนใหม่ ใช้งานได้อีก 
3.19 วิธีใช้น้ำอย่างประหยัดในอ่างอาบน้ำ 
หลังจากอาบน้ำเสร็จในอ่างอาบน้ำ อย่าปล่อยน้ำทิ้ง ให้ใส่น้ำยาล้างจานลงไปล้างจนสะอาด จะช่วยประหยัดน้ำที่จะนำมาขัดล้างอ่าง 
3.20 ซื้อของขวัญให้กันแบบประหยัด 
ให้ซื้อสิ่งของที่ระลึกสะสมไว้ เมื่อไปเจอะเจอตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แล้วห่อเก็บไว้ให้ดี เมื่อถุงเทศกาลของขวัญ จึงค่อยนำมาปัดฝุ่นห่อเป็นของขวัญ 
3.21 ทำให้ผมหรือขนคิ้วดกโดยไม่ต้องใช้ยา 
ให้ผสมหัวกะทิกับน้ำมะกรูดชโลมบนเส้นผมหรือขนคิ้วก่อนนอน ทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วจึงค่อยล้างออก ทำประมาณ 4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล ประหยัดเงินที่จะไปหาหมอ 
3.22 เมื่อทำอาหารมากจนเกินไป 
อาหารบางมื้อ หากประมาณการไม่ถูก ก็จะเหลือบานเบอะ จะทิ้งก็เสียดาย เก็บไว้ไม่นานก็เสีย ให้แบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆ แจกคนไปเก็บแช่ในตู้เย็น สำหรับนำไปรับประทานในมื้อต่อไป 
3.23 ล้างภาชนะในครัวที่เปื้อนน้ำมันอย่างประหยัด 
ภาชนะในครัวเปื้อนน้ำมัน เวลาล้างจะล้างออกยาก เปลืองน้ำ และเปลืองน้ำยาล้างจานมาก ให้นำภาชนะนั้นมาเช็ดให้เกลี้ยงด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะช่วยดูดซับไขมันจนหมด จากนั้นให้ใช้น้ำยาล้างจานทำความสะอาดครั้งสุดท้าย (บางคนกลัวสารตะกั่วในหมึกพิมพ์) 
3.24 ทำผ้าเช็ดฝุ่นอย่างประหยัด 
หาผ้าที่ไม่เป็นเศษขนแช่ลงในอ่างที่มีส่วนผสมของน้ำมันสน 2 ช้อนชา กับน้ำร้อน 4 ถ้วย แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วนำมาบิดตากให้แห้ง นำผ้านี้ไปเช็ดฝุ่นตามโต๊ะและภาชนะ สามารถทำความสะอาดได้ดี แถมยังเป็นเงางามอีกด้วย 
3.25 สีทาบ้านแบบประหยัดต้องสีน้ำมัน 
คนส่วนใหญ่นิยมใช้สีพลาสติกทาบ้าน เพราะสีสวยราคาถูก กลิ่นไม่เหม็นมาก แต่มองระยะยาว ควรใช้สีน้ำมัน เพราะสามารถล้างทำความสะอาดง่าย ไม่ต้องเสียเงินทาสีซ้ำบ่อยๆ 
3.26 ผักดองทานได้ไม่มีวันหมด 
หากกินผักดองหมดขวดแล้ว ให้เก็บขวดและน้ำดองที่เหลือเอาไว้ในตู้เย็น เมื่อมีผักเหลือจากการทำอาหาร ก็นำมาเก็บผักไว้ในขวดนั้น นานเข้าผักนั้นก็จะกลายเป็นผักดอง เก็บไว้กินได้นาน 
3.27 ใช้ตู้เย็นแบบประหยัดพลังงาน 
หากต้องการประหยัดพลังงานแบบสุดๆ ต้องใส่ของเท่าที่จะใส่ไว้ในตู้เย็นให้เต็ม ของที่ใส่ไว้จะช่วยรักษาความเย็นได้ดียิ่ง ในการเปิดตู้เย็นแต่ละครั้ง 
3.28 ถุงนอนเด็กจากผ้าคลุมเตียง 
ดัดแปลงผ้าคลุมเตียงเก่าหรือผ้านวมที่ไม่ใช้แล้วเอามาพับครึ่ง เย็บด้านข้างและด้านล่าง สำหรับด้านบนเปิดไว้ เป็นที่ให้เด็กแทรกตัวเข้าไปนอนได้ 
3.29 เศษสบู่แทนครีมโกนหนวด 
เราสามารถใช้เศษสบู่หลายๆ ก้อนมาห่อผ้าแล้วชุบน้ำ ถูบริเวณที่จะโกนหนวด แทนครีมโกนหนวดราคาแพงได้ 
3.30 ผลไม้แตกมีรอยช้ำ 
ผลไม้แตกฟกช้ำมีตำหนิ ให้ล้างน้ำให้สะอาด ผ่านส่วนที่ช้ำออก เลือกส่วนที่ดีใส่เครื่องปั่น ใส่น้ำแข็งปรุงรส ด้วยน้ำเชื่อม เกลือ ทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น อร่อย ชื่นใจ 
3.31 ซื้อยกโหลตลาดใหญ่ถูกกว่า 
ของจำเป็นต้องบริโภคทุกๆ วัน ซื้อบ่อยๆ ควรซื้อยกโหลจะถูกกว่า แต่ต้องระวังปัญหาของเสีย หากเก็บนานเกินไปเพราะกินไม่ทัน 
3.32 ผักดองทานได้ไม่มีวันหมด 
ตลาดค้าส่งที่ขายผักและผลไม้ในราคาถูก เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดรังสิต ตลาดยิ่งเจริญ (สะพานใหม่) ในกรุงเทพมหานคร อาจไปอาทิตย์ละครั้ง ซื้อของสดมาเก็บไว้รับประทาน สำหรับต่างจังหวัดอาจเป็นตลาดในอำเภอหรือตลาดในตัวเมือง 
3.33 ในขณะท้องหิวไม่ควรจ่ายตลาด 
เวลาท้องหิว เมื่อเห็นอะไรก็อยากทานไปหมดแล้วมักจะซื้อเกินรายการที่คิดเอาไว้ กินไม่หมดต้องทิ้งไป ควรไปจ่ายตลาดช่วงท้องอิ่ม จะได้แต่ของที่จำเป็นจริงๆ 
3.34 เก็บขนมปังแผ่นไว้กินนานๆ 
ขนมปังปอนด์เป็นแผ่นๆ จะเก็บได้นานเมื่อเก็บในตู้เย็น หากกินไม่ทันก่อนวันหมดอายุ ให้แบ่งใส่ถุงพลาสติกเป็นหลายถุง แช่แข็งไว้ เวลาจะรับประทานให้นำเก็บมาแช่ในห้องตู้เย็นธรรมดา 1 คืน ขนมปังจะนุ่มเหมือนเดิม วิธีนี้จะไม่เหมาะกับขนมปังมีไส้ เพราะจะไม่น่ากินที่ไส้เละ 
3.35 วิธีเลือกเนื้อไก่ให้เก็บไว้ได้นาน 
เนื้อไก่ทั้งตัว จะมีราคาถูกกว่าเนื้อไก่ที่หั่นเป็นชิ้นขายเป็นส่วน ๆ ถ้าต้องการซื้อเนื้อไก่ให้เก็บไว้นาน ๆ ควรซื้อเนื้อไก่สด ๆ แล้วเอามาแช่แข็งเอง ดีกว่าที่จะซื้อแบบที่ร้านค้าแช่แข็งมาแล้ว เพราะคุณอาจจะได้น้ำหนักของน้ำที่แข็งเข้ามาด้วย 
เนื้อไก่ที่ดีต้องเนื้อนุ่มไม่เหนียว เนื้อไม่เป็นสีเขียว เนื้อบริเวณข้อกระดูกจะหนา ถ้าซื้อเป็นตัว ลองกดบริเวณกระดูกหน้าอกจะยุบเล็กน้อยตามแรงกด 
3.36 เลือกซื้อน้ำยาล้างจานและประหยัด 
น้ำยาล้างจาน ควรเลือกซื้อแบบที่มีลักษณะคุณภาพดี ราคาจะแพงสักหน่อย เราสามารถนำตัวยาไปผสมกับน้ำเปล่าทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สำหรับน้ำยาล้างจานอย่างถูกมักจะไม่เข้มข้น ผสมน้ำแล้วจะใช้ไม่ได้เลย 
3.37 สินค้ามีตำหนิจากโรงงานราคาถูกกว่า 
ปัจจุบันมีการนำสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน ที่มีตำหนิจากโรงงานออกมาขายในราคาถูก ความสวยลดลงหน่อย แต่ประสิทธิภาพการทำงานก็คล้ายคลึงกับเครื่องที่ไม่มีตำหนิทุกประการ 
3.38 ของเก่ามาแลกของใหม่ 
ตามหน้าหนังสือพิมพ์ บางครั้งเห็นโฆษณาขายสินค้าบางประเภท ที่เรียกร้องให้นำของเก่ามาแลกของใหม่ในราคาพิเศษ ถูกกว่าหลายเปอร์เซ็นต์ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เป็นการระบายของเก่า แล้วได้ของใหม่มาทดแทนอีกด้วย 
3.39 ใช้สินค้ามือสองแต่ประสิทธิภาพดี 
ใช้สินค้ามือสองราคาถูกกว่าไปซื้อของใหม่เต็มราคา แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการพิจารณา จึงจะได้ของดี ระวังถูกหลอกย้อมแมวขาย หากของเก่าชำรุดมาก อาจไม่คุ้มค่าซ่อม ระวังเรื่องสุขภาพอนามัยจากการใช้สินค้ามือสอง และทดสอบการทำงานก่อนซื้อด้วย จะได้ไม่ผิดหวัง 
3.40 ซ่อมพรมที่ขาดโดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ 
ถ้าพรมที่บ้านเปื่อยขาดเป็นรอยเปื้อนซักไม่ออก ให้ซ่อมโดยการตัดพรมบริเวณที่เปื่อยเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วตัดพรมสำรองให้พอดีรู จากนั้นให้ใช้ผ้าใบธรรมดาติดกาวปิดด้านใต้พื้นพรมก่อน จากนั้นค่อยติดกาวพรมสำรองลงในรูที่ตัดเอาไว้ 
3.41 ใช้ถ่านที่ชาร์ตไฟได้ประหยัดกว่าถ่านธรรมดา 
ควรเปลี่ยนเป็นถ่านที่สามารถชาร์ตไฟได้ แม้นจะมีราคาแพงกว่า แต่ใช้ได้นานถึง 1,000 ครั้ง คือ ประมาณ 1 – 4 ปี ประหยัดกว่าใช้ถ่านธรรมดาเยอะ 
3.42 ซื้อถุงขยะใช้อย่างประหยัด 
ถุงขยะสีดำ มีหลายขนาด ไม่ควรซื้อหลายขนาด ทางประหยัดใช้ถุงที่ใส่ของอื่นใส่ขยะแทน แล้วซื้อถุงขยะใบใหญ่มาใส่ขยะจากถุงใบเล็กๆ 
3.43 เคล็ดลับการเลือกซื้อชุดชั้นในที่มุมลดราคา 
ซื้อชุดชั้นใน (ยกทรง) ที่มุมลดราคา ให้ทดลองสวมดูให้พอดีกับตะขอนอก ใช้ไปนานๆ ยางก็จะยืดก็ไปติดที่ตะขอใน 
3.44 ใช้รถยนต์ให้ประหยัดน้ำมัน 
การดับเครื่องยนต์ระหว่างติดไฟแดง ไม่เป็นการประหยัดน้ำมัน เพราะใช้เวลาเพียงน้อยนิด เว้นแต่หยุดรอเพื่อนเป็นเวลานานก็ควรดับเครื่องยนต์รอ ประหยัดน้ำมันโดยไม่บรรทุกของหนักเกินไป วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ขับรถด้วยความเร็ว 60 – 70 กม./ชั่วโมง 
3.45 ปลูกพืชสวนครัวไว้รับประทานเอง 
คนที่อยู่บ้านในเมือง ควรปลูกพืชสวนครัว เช่น กะเพรา พริกขี้หนู ต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง ลงในกระถางดินในบ้าน ไว้ประกอบอาหารรับประทาน ไม่ต้องซื้อหาใคร แถมยังปลอดสารพิษอีกด้วย 
4. ใช้สมุนไพรรักษาโรค 
เลือกสมุนไพรอย่างใดอย่างหนึ่งให้เหมาะสมกับโรคของตน 
กลาก - เกลื้อน 
ใช้กลีบกระเทียม เหง้าข่า ใบ – ดอกชุมเห็ด ใบ – รากทองพันชั่ง เปลือกกระท้อน น้ำมะนาว 
แก้ไข้ตัวร้อน 
รักษาด้วย เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก รากย่านาง เนื้อ – ผลกระจับ รากชำมะเลียง เนื้อลูกทับทิม รากพุทรา น้ำมะขาม ผลมะขามป้อม รากมะปลิง รากมะยง ใบ – รากมะเฟือง รากมะยม ผลมะหวด 
แก้บิด 
รักษาด้วยเปลือก – ผลทับทิม เปลือกมังคุด ราก - ใบสดของแตงโม 
ฆ่าเหา 
ใบสดและเนื้อน้อยหน่า 
ชันนะตุ 
รักษาด้วยผลมะคำดีควาย 
ถ่ายพยาธิลำไส้ 
รักษาด้วย เมล็ดฟักทอง ผลมะเกลือ เนื้อ – เม็ดมะขามแก่ แก่นมะหวด เมล็ดเล็บมือนาง เมล็ดสะแก เปลือกเงาะ ราก – ต้นทับทิม เมล็ดมะละกอ ยางละมุดฝรั่ง ราก – ลูกเดือย 
แผลไหม้ - น้ำร้อนลวก 
ใช้ต้นและใบบัวบก น้ำมันมะพร้าว วุ้นจากใบว่านหางจระเข้ ใบกล้วย น้ำแตงกวา 
ฝีและแผลพุพอง 
ใช้เหง้าขมิ้นชัน ดอก – ใบชุมเห็ด ใบ – ดอก – เทียนบ้าน วุ้นจากใบว่านหางจระเข้ 
อาการขัดเบา 
กลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบ ใบขลู่เมล็ดคั่วแห้ง ชุมเห็ดไทย ลำต้นและเหง้าตะไคร้ เหง้าสัปปะรด รากหญ้าคา ใบหญ้าหนวดแมว ลำต้นอ้อยแดง หนวดข้าวโพด ผลแตงกวา เมล็ดแตงไทย น้ำแตงโม ต้นบัวบก รากใบเตยหอม รากมะพร้าว ผลมะเฟือง รากมะละกอ เมล็ดลูกเดือย ราก – เถา – ใบองุ่นสีม่วง 
อาการคลื่นไส้ – อาเจียน 
ใช้ใบกะเพรา เหง้าขิง ผลยอ ฝักข้าวโพด ผลบ้วย น้ำมะกรูด 
อาการเคล็ดขัดยอก 
รักษาด้วยเหง้าไพล 
กันยุง 
ใช้ลำต้นตะไคร้หอม 
ปวดฟัน 
ใช้เปลือกข่อย 
อาการท้องเดิน 
ใช้ผลดิบกล้วยน้ำว้า เปลือกผลทับทิม ใบฝรั่ง ใบฟ้าทลายโจร เปลือกต้นพุทรา เปลือกต้นมะขาม ใบมะขวิด ผลอ่อนมะตูม เมล็ด – เปลือกต้นมะม่วง ใบลูกจากเปลือกต้นลูกหว้า 
อาการท้องผูก 
ใช้ใบขี้เหล็ก เนื้อในฝักดอกคูณ ใบ – ดอก ชุมเห็ดหอม เนื้อเมล็ดมะขาม ใบมะขามแขก กลีบเลี้ยง กระเจี๊ยบ ผลกล้วยสุก ดอกเก๊กฮวย ดอกคำฝอย ผลฝรั่ง มะขามเปียก น้ำมะขามป้อม ผลมะเขือเทศ ผลมะตูมสุก ผลมะม่วงดิบ ผลมะละกอสุก ผลมะม่วงดิบ ผลมะละกอสุก ผลลูกพรุนแห้ง น้ำยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ 
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด 
ใช้เหง้ากระชาย เหง้ากระทือ หัวกระเทียม ผลกระวาน ใบกะเพรา ดอกกานพลู เหง้าข่า เหง้าขิง ผลดีปรี ต้นตะไคร้ เปลือกและน้ำมะนาว เมล็ดเร่ว หัวแห้วหมู รากกระท้อน ผลบ๊วย ใบมะขวิด ผลมะตูม ผิวส้ม – ส้มจี๊ด 
อาการนอนไม่หลับ 
ใช้ใบ – ดอกขี้เหล็ก 
อาการเบื่ออาหาร 
ใช้เถาบอระเพ็ด ใบฟ้าทลายโจร 
อาการแพ้ – อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย 
ใช้เหง้าขมิ้นชัน ใบตำลึง ใบและเถาผักบุ้งทะเล ใบพญายอ ใบพลู ใบเสลดพังพอน น้ำเก๊กฮวย รากแตงกวา ใบมะขวิด น้ำมะนาว รากมะไฟ วุ้นจากใบว่านหางจระเข้ ผลสัปปะรด 
อาการไอและขับเสมหะ 
ใช้เหง้าขิง ผลดีปรี เมล็ดเพกา ฝักมะขาม เปลือกมะนาว ผลมะแว้ง เครือมะแว้งต้น เมล็ดแตงไทย ก้าน – กลีบเลี้ยงพลับสด ผลมะขามป้อม ผลมะเฟือง เนื้อ – ผลระกำ รากดอกบัว ดอกว่านกาบหอย ผลสัปปะรด น้ำส้มจี๊ด เปลือกผลส้มโอ 
ปวดศรีษะ 
ใช้ดอก – ใบเก๊กฮวย ต้นบัวบก รากมะหวด ใบว่านหางจระเข้ทาปูน 
ขับเหงื่อ 
ใช้ใบกระท้อน ดอกคำฝอยแห้ง ใบตะขบไทย ต้นตะไคร้ 
ช่วยย่อย 
ใช้ดอกเก๊กฮวย เหง้าขิง ดอกคำฝอย เมล็ดแตงไทย ผลมะตูมสุก ยางมะละกะ น้ำสัปปะรด 
บำรุงประสาท 
ใช้ดอกเก๊กฮวย ผล – เมล็ดพุทรา ผลพุทราจีน เมล็ดฟักทอง เมล็ดมะนาว รากบัว เนื้อ – ผลลำไย 
บำรุงร่างกาย 
ใช้เนื้อกระจับ ผลกล้วยสุก นมถั่วเหลือง ต้นบัวบก ผลพุทรา มะขามป้อม เมล็ดบัว เมล็ดละมุดฝรั่ง เมล็ดลูกเดือย วุ้นจากใบว่านหางจระเข้ 
ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด 
รักษาด้วยผลทุเรียนสุก ผลมะกอก ผลมะขวิด น้ำมะนาว ผลสัปปะรด ผลส้ม 
รักษานิ่ว 
ใช้กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบ ดอก – ใบเก๊กฮวย เมล็ดฟักทอง 
น้ำกัดเท้า 
ใช้เปลือกผลทับทิม เปลือกผลมังคุด 
ฝีในหู 
ใช้เมล็ดลางสาด 
แผลเน่าเปื่อย 
ใช้ใบขนุน เปลือกผลมังคุด วุ้นจากว่านหางจระเข้ น้ำอ้อยเชื่อม 
ส้นเท้าแตก 
ใช้เปลือกกล้วยหอมสด 
ลดอาการกระหายน้ำ 
ใช้เนื้อ – ผลกระเจี๊ยบ กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบ ดอกเก๊กฮวย เนื้อแตงโม เนื้อ – ผลทับทิม ต้นบัวบก ใบเตยหอม ใบมะกอก ผลมะกอกน้ำ น้ำมะขาม ผลมะขามป้อม ผลมะขวิด เหง้าบัว รากลูกตาล ใบว่านกอบหอย 
ลบรอยฝ้าหน้าด่างดำ 
ใช้น้ำแตงกวา ยางมะละกอ วุ้นจากใบสดว่านหางจระเข้ 
ห้ามเลือดใส่แผลสด 
ใช้ยางกล้วย น้ำมะนาว เมล็ดลำไย 
สีย้อม 
ใช้ยางจากต้น – ผลกล้วย แก่นขนุน ดอกคำฝอย ใบตะขบไทย เปลือกผลทับทิมใบ – เปลือกมะขามป้อม ยางจากเปลือกต้น และผลมะตูม 
5. ประโยชน์ของพืชสมุนไพร 
5.1 ว่านหางจระเข้ 
ใช้รักษา 
- แผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก ป้องกันติดเชื้อทำให้แผลหายเร็ว โดยใช้น้ำเมือกทา 
- ผิวไหม้ หรือเกิดอาการไหม้เพราะแดดเผา โดยใช้น้ำเมือกทาบ่อยๆ หรือใช้วุ้นฝานบางๆ มาแปะ และ/หรือเอาผ้าปิดทับอีกครั้ง 
- แผลจากของมีคมและแผลอื่นๆ ระงบการติดเชื้อ และลบรอยแผลเป็น โดยใช้วุ้นมาปิดแผล หรือน้ำวุ้นมาหยดใส่ผ้าปิดแผลไว้ 
- บำรุงผมและหนังศีรษะ โดยใช้น้ำเมือกเป็นยาสระและยานวด 
- ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้สารเคมี ระงับอาการปวด ลดอาการคัน ทำให้แผลหายคันเร็ว โดยใช้น้ำเมือกทา 
- รักษาสิว โดยใช้สบู่ที่ทำมาจากว่านหางจระเข้ ใช้ขี้ผึ้งจากว่านหางจระเข้ทา 
- ลบรอยแผลเป็น ใช้น้ำเมือกทาทุกเช้าเย็น 
- ลบรอยด่างดำบนผิวหนัง ใช้น้ำเมือกทาวันละ 2 ครั้ง ทาหลายๆ เดือน 
5.2 กล้วย 
- รักษาบาดแผล ใช้เปลือกกล้วยดิบ นำมาตากแดด และป่น ใช้รักษาบาดแผล 
- ปวดศีรษะ เป็นไมเกรน ใช้กล้วยสุกมาปาด และทาบนหน้าผาก 
- โรคผุพอง และรอยข่วนบนรองเท้า ใช้เปลือกด้านในเปลือกกล้วยทา 
- แก้ท้องเสีย ใช้กล้วยสุกบด และต้มใส่น้ำเล็กน้อยกิน 
- ระบบขับถ่าย กินกล้วยสุกหนึ่งเดือน 
- เพิ่มน้ำหนักตัว กินกล้วยสุกและข้าวมากๆ 
5.3 ใบโหระพา 
- ช่วยให้นอนหลับสบาย หายปวดหัว และโลหิตหมุนเวียนดี โดยกินชาจากใบโหระพา 
5.4 ป๊วยกั๊ก 
- ช่วยป้องกันไม่ให้มีน้ำมันบนผิวหนังมากจนเกินไป และช่วยทำให้ความทรงจำแม่นยำขึ้น 
- ช่วยอาการไอ โดยใช้ป๊วยกั๊กผง 

5.5 แอปเปิ้ล 
- ช่วยระบบขับถ่าย และป้องกันท้องเสีย 
- ช่วยป้องกันไข้หวัดและโปลิโอ รวมทั้งปวดฟัน ป้องกันฟันผุ 
- น้ำแอปเปิ้ล มาทาจุดที่แมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยให้หายคัน ช่วยลดรังแคโดยนำมาล้างผมหลังสระ 
5.6 อะโวคาโด 
- ลดคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง กินอะโวคาโด วันละครึ่งผล กินวันเว้นวัน 
- นวดใบหน้า และผิวหนัง ป้องกันผิวหนังไหม้จากแสงแดด 
- ทานวดเส้นผม ช่วยทำให้ผมนิ่มสลวย 

6. ประหยัดค่าไฟฟ้า 
หลักในการตัดสินใจซื้อเครื่องไฟฟ้า 
1. เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น กินไฟมากน้อยเพียงไร 
2. มีความเหมาะสมในการใช้งานหรือไม่ 
3. สะดวกในการใช้สอย มีความคงทน และปลอดภัยหรือไม่ 
4. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และค่าบำรุงรักษา 
5. พิจารณาคุณภาพ ค่าใช้จ่าย อายุใช้งาน ประเมินออกมา เป็นตัวเงินด้วย 
6.1 หลักการใช้หลอดไฟฟ้า 
- ใช้หลอดผอม 18 วัตต์ แทน 20 วัตต์
- ใช้หลอดผอม 36 วัตต์ แทน 40 วัตต์ โดยไม่ต้องเปลี่ยนบัลลาสต์ และสตาร์ทเตอร์
- ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน
- ใช้หลอดวัตต์ต่ำ ในบริเวณที่ไม่จำเป็น
- ทาสีห้องสีขาวหรือสีนวล
- เลือกใช้ไฟตั้งโต๊ะ เฉพาะบริเวณที่ต้องการแสงสว่าง
- ใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟ กับหลอดฟลูออเรสเซนต์

6.2 หลักการประหยัดไฟฟ้าเมื่อดูโทรทัศน์ - ควรเลือกดูรายการเดียวกัน 
- ปิดเมื่อไม่มีคนดู
- อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน
- ถ้าผู้ใช้นอนหลับหน้าโทรทัศน์บ่อยๆ ควรใช้ตัวตั้งเวลาดับโทรทัศน์

6.3 หลักการประหยัดไฟฟ้าจากตู้เย็น 
- เลือกตู้เย็นประหยัดไฟ เช่น เบอร์ 5 ดีมาก หรือเบอร์ 4 ดี
- เลือกขนาดให้เหมาะกับขนาดครอบครัว 1 – 1.25 ลบ.ฟุต (คิว) ต่อคน
- เลือกตู้เย็นที่มีฉนวนกันความร้อนหนา เป็นชนิดโฟมอัด เพื่อป้องกันสูญเสียความร้อน
- ตู้เย็น 2 ประตู กินไฟฟ้ามากกว่าประตูเดียว แต่สูญเสียความเย็นน้อยกว่า
- ตู้เย็นชนิดที่ไม่มีน้ำแข็งจับจะกินไฟมากกว่าชนิดที่มีปุ่มกดละลายน้ำแข็ง
- อย่าตั้งตู้เย็นติดผนังหรือใกล้แหล่งความร้อน
- ตั้งตู้เย็นเอียงไปข้างเล็กน้อย เพื่อให้ประตูสนิท
- ระวังอย่าให้ขอบยางมีรอยรั่ว จะสูญเสียความเย็น
- อย่าเปิดตู้เย็นบ่อยๆ เปิดแล้วให้รีบปิด
- ให้ละลายน้ำแข็งสม่ำเสมอ เพื่อให้ทำความเย็นได้มีประสิทธิภาพ
- ตั้งสวิทซ์ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับชนิดและปริมาณที่แช่ตู้เย็น
- ถอดปลั๊ก กรณีไม่อยู่บ้านหลายวัน หรือไม่มีอะไรในตู้เย็น

6.4 หลักการประหยัดไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ 
- เลือกเครื่องปรับอากาศ เบอร์ 5 ดีมาก เบอร์ 4 ดี
- เลือกขนาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับห้องที่จะติดตั้ง ดังนี้
 
ตร.ม. บีทียู/ชั่วโมง 
13 – 14 7,000 – 9,000 (8,000) 
16 – 17 9,000 – 11,000 (10,000) 
20 11,000 – 13,000 (12,000) 
23 – 24 13,000 – 16,000 (14,000) 
30 18,000 – 20,000 (18,000) 
40 24,000 
- เลือกชนิดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม

ชนิดติดหน้าต่าง ติดกับหน้าต่างวงกบ 
ขนาด 9,000 – 24,000 บีทียู/ชม. 
ใช้ค่าประสิทธิภาพ (EER) = 7.5 – 10 บีทียู/ชม./วัตต์ 
ชนิดแยกส่วน ติดฝาผนังหรือแขวน 
เหมาะสำหรับห้องทึบ ติดตั้งได้สวยงาม ราคาแพงกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดอื่นๆ 
ขนาด 8,000 – 24,000 บีทียู/ชม. 
ใช้ค่าประสิทธิภาพ (EER) = 7.5 – 13 บีทียู/ชม./วัตต์ 
ชนิดแยกส่วนติดตั้งบนพื้น 
เหมาะสำหรับห้องกระจกทั้งหมด ผนังทึบ มีประสิทธิภาพต่ำกว่าชนิดอื่นทั้งหมด 
ใช้ค่าประสิทธิภาพ (EER) = 6 – 11 บีทียู/ชม./วัตต์ 
- ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้สูงจากพื้นพอสมควร เพื่อให้ความเย็นป่าออกได้หมุนเวียนทั่วถึงทั้งห้อง
- อย่าให้ความเย็นรั่วไหล ห้องควรปิดประตูหรือหน้าต่างให้มิดชิด
- ปรับปุ่มต่างๆ ให้เหมาะสม เริ่มเปิดเครื่องให้ตั้งพัดลมแรง (High) และอุณหภูมิต่ำสุด หลังจากห้องเย็นแล้วให้ตั้งอุณหภูมิที่ 26 องศาเซ็นเซียส
- หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ และตะแกรงด้านหลัง เพื่อให้อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวก จะประหยัดไฟได้โดยตรง
- ใช้พัดลมระบายอากาศเท่าที่จำเป็น
- ควรปิดเครื่องปรับอากาศ เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้
- ในฤดูหนาว อากาศไม่ร้อน ไม่ควรเปิดเครื่อง
- หมั่นตรวจสอบ ล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด
- หน้าต่างหรือบานกระจกที่แสงส่องได้ควรปิดผ้าม่านให้มิดชิด
- ผนังหรือเพดานควรบุด้วยฉนวนกันความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผนังหรือเพดานที่มีแสงแดดส่อง

6.5 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากพัดลม 
- ควรใช้พัดลมตั้งพื้นหรือตั้งโต๊ะ แทนพัดลมติดเพดาน เพราะจะกินไฟน้อยกว่าพัดลมติดเพดานประมาณครึ่งหนึ่ง
- อย่าเปิดทิ้งไว้เมื่อไม่มีคนอยู่ (อาจเป็นเหตุให้เพลิงไหม้)
- เมื่อเลิกใช้ควรปิดพัดลม และดึงปลั๊กออก
- ปรับความเย็นพอสมควร
- เลือกขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- เปิดหน้าต่างใช้ลมธรรมชาติแทนถ้าทำได้

6.6 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเตารีดไฟฟ้า - ควรรีดผ้าคราวละมากๆ ติดต่อกันจนเสร็จ และควรเริ่มรีดผ้าบางๆ ก่อนในขณะที่เตารีดยังไม่ร้อน และก่อนรีดเสร็จประมาณ 2-3 นาที ให้ดึงปลั๊กออก 
- เมื่อไม่ได้ใช้งานควรดึงปลั๊กออก และก่อนจะเก็บควรทิ้งให้เตารีดเย็นก่อน (ป้องกันอัคคีภัย) 
6.7 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเตาไฟฟ้า 
- ทำแผนทำกับข้าว แต่ละครั้ง เตรียมเครื่องปรุงต่างๆ ให้พร้อมเสียก่อน แล้วจึงเปิดสวิทซ์ เตาไฟฟ้า ตั้งกะทะ และทำรวดเดียวจนเสร็จ
- ภาชนะที่ใช้ควรเป็นชนิดแบนพอดีกับเตาไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ใช้ภาชนะที่มีเนื้อโลหะรับความร้อนได้ดี ที่ออกแบบกับเตาไฟฟ้า
- อาหารแช่แข็ง ให้ทำให้หายแข็งก่อน โดยการนำอาหารมาแช่ที่ชั้นล่างก่อน เป็นเวลานานพอควร
- ใส่น้ำพอควร
- ใช้เตาไฟฟ้าชนิดที่มองไม่เห็นขดลวด เพราะความร้อนจะไม่สูญเปล่า และปลอดภัยกว่า
- อย่าเปิดเตาบ่อย ๆ และขณะใช้งานควรวางเตาไว้บนพื้นที่ทนไฟ หรือไม่ติดไฟ (ป้องกันอัคคีภัย)
- ปิดสวิตซ์ก่อนเสร็จ และดึงปลั๊กออก
- ใช้เตาแก๊สประหยัดกว่า
- ระวังไม่ให้ความร้อนจากเตาไฟฟ้าสัมผัสสายไฟฟ้า และอย่าวางเตาไฟฟ้าใกล้วัสดุเชื้อเพลิง
- ติดตั้งสายดิน เพราะระบายไฟฟ้ารั่วลงสู่ดิน ทดสอบด้วยไขควงวัดไฟ แก้ไขไฟฟ้ารั่วไหล เพราะเป็นการสูญเสียไฟฟ้า โดยไม่จำเป็น

6.8 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องซักผ้า - เลือกขนาดให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ 
- ซักผ้าตามพิกัดของเครื่อง อย่าใส่ผ้าอัดแน่นเกินกำลังของเครื่อง 
- การซักผ้าทีละ 2 – 3 ชิ้น ไม่ประหยัดทั้งไฟฟ้าและน้ำ การใช้โปรแกรมน้ำร้อนซักผ้า ควรทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น 
- ซักผ้าแล้วไม่ควรใช้เครื่องอบผ้าแห้งด้วยไฟฟ้า ควรใช้วิธีการผึ่งลม หรือตากแดดดีกว่า 
- ตรวจสอบสายดิน ด้วยไขควงวัดไฟ และแก้ไขไฟฟ้ารั่วไหล 
6.9 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากหม้อต้มน้ำร้อน 
- ใส่น้ำให้พอเหมาะ 
- ถอดปลั๊กทันทีเมื่อเลิกใช้งาน 
- น้ำเดือดจะต้องถอดปลั๊กทันที 
- อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้โดยไม่มีคนอยู่ 
- วางหม้อต้มกาน้ำ กระติกน้ำร้อน บนพื้นที่ไม่ติดไฟ หรือใกล้กับวัสดุติดไฟ 
- ติดตั้งสายดิน และหมั่นตรวจไฟรั่วด้วยไขควงวัดไฟ โดยจี้ไปที่โครงโลหะของหม้อต้มน้ำ 
6.10 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากหม้อหุงข้าว - ควรเลือกขนาดให้เหมาะกับที่จะใช้งาน ดังนี้ 
จำนวนคนรับประทาน ขนาดหม้อหุงข้าว (ลิตร) กินไฟฟ้าประมาณ (วัตต์) 
1 – 3 1 450 
4 – 5 1.5 550 
6 – 8 2 600 
8 – 10 2.8 600 
10 – 12 3 800 
- ติดตั้งสายดิน และตรวจสอบไฟฟ้ารั่วไหล 
- ขั้วต่อสายที่ตัวหม้อหุงข้าว ปลั๊กเสียบและที่เต้ารับ ต้องเสียงให้แน่นสนิท 
- เลิกใช้งานควรถอดปลั๊กเสียบออกจากตัวเต้ารับ 

6.11 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจาเครื่องปิ้งขนมปัง 
- ขั้วต่อสาย ปลั๊กไฟ ต้องเสียบให้แน่นสนิท 
- เลิกใช้งานควรถอดปลั๊กเสียบออก 
- วางบนพื้นที่ทนไฟ หรือไม่ติดไฟ 
- ติดตั้งสายดิน และหมั่นตรวจไฟฟ้ารั่ว 

6.12 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องทำน้ำอุ่นให้ห้องน้ำ - ใช้เสร็จแล้วรีบปิดเครื่อง อย่าเปิดสวิทซ์ทิ้งไว้ 
- ควรใช้น้ำอุ่นที่ได้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ 
- ไม่ควรปรับปุ่มความร้อนเกินความจำเป็น 
- สวิทซ์และส่วนประกอบอื่นๆ ต้องเป็นชนิดที่กันน้ำได้ 
- ติดตั้งสายดิน และควรมีเครื่องตัดไฟรั่วเป็นอุปกรณ์เสริม 

6.13 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องดูดฝุ่น 
- เมื่อใช้แล้วควรเอาฝุ่นผงในถุงทิ้งทุกครั้ง เพื่อทำให้เครื่องมีแรงดูดดี และไม่เปลืองไฟ 
- ใช้เฉพาะที่มีสายดิน 
6.14 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องปั่นผลไม้ เครื่องผสมอาหาร
- เลือกขนาดให้พอเหมาะ
- ใช้เท่าที่จำเป็น
- ควรมีสายดิน

6.15 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องเป่าผม 
- เช็ดผมให้เกือบแห้งก่อนใช้เครื่องเป่าผม 
- ระหว่างเป่าควรขยี้และสางผมด้วย ให้ใช้ลมร้อนเท่าที่จำเป็น 
6.16 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องสูบน้ำ - เลือกเครื่องสูบน้ำที่มีถังความดันใหญ่พอควร ไม่ควรเล็กเกินไป 
- บ่อพักควรสร้างไว้ระดับพื้นดิน หรือใต้ดิน 
- ใช้สวิทซ์อัตโนมัติช่วยทำงาน 
- ประหยัดการใช้ และลดการสูญเปล่าของน้ำ 
- ตรวจสอบบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำเป็นประจำ 
- ติดตั้งสายดิน 

6.17 หลักการประหยัดค่าไฟฟ้าจากพัดลมดูดอากาศ 
- ควรปิดพัดลมทุกครั้ง เมื่อไม่มีคนอยู่ หรือเลิกใช้ 
- ตั้งความเร็วพัดลมให้พอเหมาะ หรือควรเปิดหน้าต่าง ให้ลมธรรมชาติช่วยถ่ายเทอากาศ ภายในบ้าน 
- หมั่นทำความสะอาดใบพัดและตะแกรง 
7. บทส่งท้าย 
เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันนี้ ได้สรุปย่อมาจากหนังสือ “อยู่อย่างไรให้พอดี ในยุคเศรษฐกิจพอเพียง” โดย เครือวัลย์ อัยลา เรียบเรียง 
นับว่าเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในการขับดันให้คนไทยรู้จักคำว่าพอเพียง ประหยัด แต่ไม่ขัดสน รู้จักคำว่า “พอดี – พอเพียง” รู้จักคำว่า “ไม่จำเป็น” และรู้จักคำว่า “การสูญเปล่า” ซึ่งตรงกับทางพุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า “มัญตัญญุตา = การรู้จักประมาณ” ในสัปปุริสธรรม 7 ที่จะนำมาประยุกต์ กับชีวิตประจำวัน ของปุถุชนธรรมดาทั่วไป ให้สัมผัสธรรมได้ 
ข้อแนะนำบางอย่างในบทความนี้ บางหัวข้อก็เชื่อได้ทันที แต่ในหัวข้อสมุนไพร ให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วย เพราะยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันให้เห็นชัดเจน แต่ก็คงไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ชีวิตพอเพียง (Sufficient – Life) 
หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น